จุฬาฯ ผนึกกำลัง Arabic For All และมูลนิธิโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ จัดสัมมนานานาชาติ เปิดมุมมองใหม่วัฒนธรรมอาหรับและบทบาทในโลกยุคใหม่

จุฬาฯ ผนึกกำลัง Arabic For All และมูลนิธิโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ จัดสัมมนานานาชาติ เปิดมุมมองใหม่วัฒนธรรมอาหรับและบทบาทในโลกยุคใหม่

กรุงเทพฯ – วันที่ 17-18 ธันวาคม 2567 ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Arabic For All และ มูลนิธิโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ จัดสัมมนานานาชาติในหัวข้อ “สำรวจความหลากหลายและความมั่งคั่งของวัฒนธรรมอาหรับ: มุมมองทางประวัติศาสตร์ ประเด็นร่วมสมัย และทิศทางในอนาคต

งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 17 ธันวาคม ณ ห้องประชุมจุมภฎ–พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวันที่ 18 ธันวาคม ณ ห้องไรฮาน ชั้น 4 โรงแรมอัลมีรอซ โดยมีผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่ม ทั้งนักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

งานได้รับเกียรติจาก ดร.มูฮัมมัด อับดุรเราะมาน อัลเชค ประธานผู้บริหาร Arabic For All เป็นประธานในพิธีวันแรก และ อาจารย์ชารีฟ ศรีเจริญ ประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี เป็นประธานในพิธีวันที่สอง

 

ดร.ดลยา เทียนทอง รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ประธานจัดงานในวันแรก โดยกล่าวเปิดงานว่า “การสัมมนาครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหรับและมุมมองต่ออนาคต เราหวังว่างานนี้จะสร้างแรงบันดาลใจในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมต่าง ๆ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ”

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานจัดงานในวันที่สอง ได้กล่าวว่า “เป้าหมายของงานนี้คือการสร้างสะพานแห่งความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมและประเทศต่าง ๆ ผ่านการอภิปรายและแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน”

 

 

เวทีแห่งการรวมตัวของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลก

การสัมมนาครั้งนี้รวบรวมวิทยากรจากหลากหลายประเทศ ซึ่งได้แสดงมุมมองที่ครอบคลุมทั้งในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และบทบาทในยุคปัจจุบัน

  1. ดร. ซาลามะฮ์ มูฮัมหมัด อัลบะลาวี (จอร์แดน) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และมรดกมนุษยธรรมในอารยธรรมอาหรับ ผู้มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติมากมาย ได้นำเสนอหัวข้อคุณค่าความเป็นมนุษย์ในอารยธรรมอาหรับ โดย ดร.ซาลามะฮ์ อธิบายถึงความสำคัญของอารยธรรมอาหรับในฐานะรากฐานของการพัฒนาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผ่านการส่งเสริมศิลปะ วิทยาศาสตร์ และหลักการจริยธรรม
  1. ดร. อะหมัด มุฮัมมัด ซอและห์ อัลเชค (ซาอุดีอาระเบีย) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลามและผู้บริหารองค์กรด้านวะกัฟ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักศาสนาเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับหลักการสามประการในอิสลาม เน้นเนื้อหามุ่งเน้นถึงศรัทธา (อีมาน) การปฏิบัติศาสนา (อิบาดะห์) และจริยธรรม (อัคลาก) ที่เป็นหัวใจของการสร้างความสมดุลในชีวิตมนุษย์
  2. ดร. ซัยด์ อะลี อัดดูกาน (ซาอุดีอาระเบีย​) นักวิจัยผู้มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างวัฒนธรรม และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในบริบทอิสลาม บรรยายในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนในอิสลาม ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของอิสลามในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความยุติธรรม พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของศาสนาในมิติสิทธิมนุษยชน
  3. ดร. อับดุลเราะห์มาน อัลซานูซี (แอลจีเรีย) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลในระบบการเงินอิสลาม และที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ในธนาคารอิสลามระดับโลก นำเสนอเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในเศรษฐกิจอิสลาม โดยเน้นถึงบทบาทของธรรมาภิบาลในเศรษฐกิจอิสลาม ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างการนำไปใช้ในองค์กรการเงินอิสลาม
  4. ดร. ยูซุฟ สะรอจ มาฟูดะ (จีน) คณบดีคณะการศึกษาภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา มหาวิทยาลัยซีอานเพื่อการศึกษานานาชาติ ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาในจีน นำเสนอหัวข้อ การบูรณาการวัฒนธรรมอิสลามในบริบทโลก กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายในการส่งเสริมวัฒนธรรมอิสลามในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยเน้นการบูรณาการวัฒนธรรมและการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกัน
  5. ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน (ประเทศไทย) นักการเมืองและนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญ นำเสนอประเด็นการนำหลักการอิสลามสู่การปฏิบัติจริง โดยถ่ายทอดประสบการณ์จริงในการใช้หลักศาสนาอิสลามในการบริหารงานและแก้ปัญหาสังคม โดยเน้นความยุติธรรมและความเท่าเทียม
  6. รศ.ดร. ปกรณ์ ปรียากร (ประเทศไทย) นักวิชาการด้านการพัฒนาชุมชนและการสร้างความยั่งยืน แลกเปลี่ยนให้เห็นการบูรณาการแนวคิดวิชาการสู่นโยบายสังคม โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและแนวคิดที่ได้จากสัมมนาสู่นโยบายที่ตอบโจทย์ชุมชนในระดับปฏิบัติ

ดร.มูฮัมมัด อับดุรเราะมาน อัลเชค กล่าวปิดงานโดยเน้นถึงบทบาทของวัฒนธรรมอาหรับในการสร้างสะพานแห่งความเข้าใจในสังคมโลก พร้อมเสนอแนวทางความร่วมมือในอนาคต เช่น การพัฒนาหลักสูตรวัฒนธรรมอาหรับในมหาวิทยาลัยไทย การแปลตำราเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนอิสลาม และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจอิสลามในประเทศไทย

 

อาจารย์ไฟโรส อยู่เป็นสุข ประธานมูลนิธิโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ กล่าวขอบคุณวิทยากรทุกท่านและผู้เข้าร่วมงาน พร้อมเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันสานต่อเป้าหมายจากสัมมนาครั้งนี้ โดยระบุว่า “การสัมมนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย”

 

การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป การสัมมนาดำเนินการในสองภาษา ได้แก่ ภาษาอาหรับและภาษาไทย พร้อมล่ามแปลภาษา นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน เพจเฟซบุ๊กของศูนย์มุสลิมศึกษา- https://www.facebook.com/share/15gGfGUGQp/?mibextid=qi2Omg และ โรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด – https://www.facebook.com/share/12BvVEWVCnq/ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามย้อนหลังได้

งานสัมมนานี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม เสริมสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ และสร้างแรงบันดาลใจในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในอนาคต

Arabic For All องค์กรระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นการส่งเสริมภาษาอาหรับและวัฒนธรรมอาหรับให้แก่ผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาแม่ โดยตลอดระยะเวลากว่า 23 ปีที่ผ่านมา องค์กรนี้ได้เผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมอาหรับในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยโดยได้ลงนามความร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มาผ่าน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนภาษาอาหรับในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย

ศูนย์มุสลิมศึกษา เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับมุสลิมในประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมุสลิมในมิติที่หลากหลาย

 

มูลนิธิโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะในเขตจังหวัดชายแ

ดนภาคใต้และพื้นที่ทั่วประเทศไทย มูลนิธิมุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาศักยภาพชีวิต และสนับสนุนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการสำคัญหลายด้าน เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษา โครงการฝึกอบรมวิชาชีพ และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในกระบวนการเรียนรู้ โดยผลักดันให้เยาวชนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้เต็มที่ และมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเสมอภาคและยั่งยืน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll Up